ฝึกใจเข้าไปสู่วัยเด็ก


     ชีวิตเด็กๆ ในช่วงวัยไร้เดียงสานั้น เป็นชีวิตทีมีความสุข
เพราะเป็นวัยที่ปลอดความคิด หิวก็ร้องไห้ อิ่มก็หยุด
แต่พอเริ่มโตขึ้นสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมชีวิต ทำให้
ต้องคิดเรื่องต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งอายุมาก ภารกิจ
ก็มากขึ้น มีพันธนาการของชีวิตเพิ่มขึ้น คิดจนสมองไม่ว่าง
และไม่สะสางความคิดต่างๆ ที่ตกค้างในสมองเลย

     ชีวิตจึงถูกหล่อหลอมด้วยระบบของความคิด ตั้งแต่
ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน แม้หลับก็ยังคิด ทั้งตื่น ทั้งหลับ
ทั้งฝัน ตกอยู่ในอิทธิพลของความคิดทั้งสิ้น ชีวิตจึงมีแต่
ความทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุข มีความเครียดสั่งสมอยู่
ตลอดเวลา

     การฝึกใจเข้าไปสู่วัยเด็ก สู่แหล่งกำเนิดของความว่าง
จากอารมณ์ความคิด คือแหล่งสันติสุขภายใน แหล่งของสติ
แหล่งของปัญญา แหล่งของอานุภาพพลังภายใน จึงมีความ
สำคัญ

     การทำอารมณ์ให้กลางๆ คือไม่สุขและไม่ทุกข์ มีอะไรให้
ดูก็ดูไปเรื่อยๆ แบบสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น อย่า
ตั้งคำถามอะไรให้เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังฝึกใจให้หยุด ให้ใจ
นิ่ง อย่าให้มีความคิดอะไรเกิดขึ้น แม้ว่าความคิดนั้น จะเป็น
สิ่งที่ดีงามก็ตาม เพราะเรากำลังจะฝึกไม่คิด ฝึกทำใจ
หยุดนิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย

     การย้อนยุคอารมณ์ไปสู่วัยที่เรายังไร้เดียงสานี้ จะต้อง
ค่อยๆ ผ่อนความนึกคิด ที่มีมากให้ค่อยๆ ลดลง ที่มีน้อย
ให้มันหมดไป ด้วยการกำหนดสร้างสติ ด้วยวิธีการบริกรรม
ภาวนา คือ อยู่ในอารมณ์เดียว คือ อารมณ์ปัจจุบัน…!

ไม่มีใครยัดเยียดความทุกข์ให้เราได้ ถ้าเราไม่ยินยอม

     ก้อนหินจะหนักเพียงใด ถ้าเราไม่แบก ก็ไม่หนัก หนาม
แหลมคมเพียงใด ถ้าเราไม่เผลอไปเหยียบ ย่อมไม่เจ็บปวด
เมื่อรู้สึกหนักหรือรู้สึกเจ็บปวด เราจะโทษก้อนหิน หรือ
หนามแหลมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องกลับมาดูว่า เรามีส่วนร่วม
ด้วยมั้ย

     หมายความว่า ไม่มีใครยัดเยียดความทุกข์ให้เราได้
ถ้าเราไม่ยินยอม และไม่มีใครขโมยความสุขจากเราไปได้
ถ้าเรารู้จักรักษา ทุกสิ่งอยู่ที่ตัวเราใจเราทั้งสิ้น

     “ใจเป็นใหญ่ให้หล้ามายาโลก, ที่ทุกข์โศกก็เพราะใจ
หาใช่อื่น หากหวังสุข ไร้ทุกข์อันยั่งยืน, ควรเร่งตื่นทำใจ
ไว้ในตน”

ขอให้กำลังใจ ชีวิตต้องก้าวย่างต่อไป…!